วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปภ.ร้อยเอ็ด และชาวบ้าน 3 ตำบล จาก 2 อำเภอ นั่งเรือพาย ถกปัญหา เพื่อข้อยุติ การระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงน้ำเสียว เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมนาข้าว หลายหมื่นไร่ เพือระบายน้ำลงลำน้ำมูลแทน

นายพิทยา กุดหอม ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดร้อยเอ็ด และคณะ พร้อมด้วย แกนนำชุมชน ตำบลดอกไม้,ตำบลนาใหญ่ อ.สุวรรณภูมิ และ แกนนำชุมชนตำบลคูเมือง อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด นั่งเรือพาย ลงสำรวจและศึกษาหาทางแก้ปัญหาน้ำฝนที่ตกติดต่อกันในจังหวัดร้อยเอ็ด หลายวันติดต่อกัน จนเกิดการท่วมขังพื้นที่การเกษตรหรือนาข้าวของชาวบ้าน 3 ตำบล 20 หมู่บ้าน เนื่องจากการระบายน้ำหลากลงในลำน้ำเสียว เพื่อระบายลงสู่ลำน้ำมูล ไม่สามารถระบายได้ทัน ส่งผลกระทบต่อนาข้าวของชาวบ้านจำนวนมาก

  การสำรวจข้อเท็จจริง ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง คือ ปลัดเทศบาล และนายช่างโยธา ของเทศบาลตำบลดอกไม้,กำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลนาใหญ่ อ.สุวรรณภูมิ,กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต.คูเมือง อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด ตรวจสอบสภาพการไหลของน้ำ ที่ชาวบ้านเชื่อว่าวัชพืชและผักปอดจำนวนมากในตำบลดอกไม้และสะพานเหนือฝายวังยาง ที่บ้านโคกทับเต่า มีท่อระบายน้ำเล็กเกินไป เป็นต้นเหตุของการระบายน้ำไม่ทัน ทำให้น้ำท่วมนาข้าวที่กำลังตั้งท้อง และออกรวง ในพื้นที่ 3ตำบล ใน 2 อำเภอ กว่า 6,000  ไร่ กำลังจะได้รับความเสียหาย ต้องการให้มีการเร่งแก้ไปด้วยการขุดลอกผักตบชวาออก พร้อมกับตัดถนนบริเวณคอสะพาน ที่บ้าน โคกทับเต่า ออกให้น้ำไหลระบายได้สะดวกยิ่งขึ้น

 และพร้อมกันนั้น ยังต้องการให้มีการตัดแนวกั้นน้ำใต้ฝายวังยาง ที่กั้นน้ำไม่ให้ไหลลงลำน้ำเสียว  ที่มีแนวยาว 800 เมตรกั้นน้ำอยู่  ออก 200 เมตร  เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ซึ่งท่วมขัง  เปิดทางให้น้ำสามาถไหลลงสู่ลำน้ำเสียว ระบายสู่ลำน้ำมูลต่อไป เพราะหากไม่มีการระบายออกไป ฝนที่ยังจะตกลงมาอีก ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับนาข้าว ขยายวงกว้าง สร้างความเสียหายให้กับนาข้าวอีกหลายหมื่นไร่ที่ยังเหลืออยู่ ของ 2 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจะเสียหายมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่นายพิทยา กุดหอม ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ว่า จากการรับฟังปัญหาและศึกษาสภาพสถานที่ทั้งหมดแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกี่ยวกับการชะลอน้ำของผักตบชวา หรือปัญหาการระบายน้ำของท่อลอดของน้ำได้สะพานตามที่เข้าใจ และการขัดคอสะพานเพื่อระบายน้ำ ก็มีชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะเกิดหลายปัญหานำไปสู่คามขัดแย้งตามมา

ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือต้องทำการขุดเจาะ หรือตัดแนวกั้นน้ำใต้ฝายวังยาง ตรงท้ายสุดใกล้ลำเสียวที่กั้นอยู่  ซึ่งมีแนวยาว 800  เมตร ด้วยการขุดออก 200 เมตร เพื่อระบายน้ำลงสู่ลำน้ำเสียว เพื่อระบายออกไปสู่ลำน้ำมูล จึงน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหา

ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้ ขอให้แกนนำชุมชนเร่งทำประชาพิจารณ์เพื่อรับความเห็นชอบ และในส่วนของป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด ก็จะนำเสนอปัญหา และแนวทางแก้ปัญหาให้ นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้รับทราบและขอความเห็นชอบ เพื่อเร่งแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับ เจ้าของนาข้าวที่ได้รับผลกระทบต่อไปด้วย เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปด้วยความรวดเร็วก่อนที่นาข้าวจะเสียทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น