วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิต มทส.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๕ จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสังคม แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และจากสถาบันการบินพลเรือน ซึ่งเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัย จำนวน ๒,๓๙๖ คน เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ อาคารสุรพัฒน์ ๒  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงอาคารสุรพัฒน์ ๒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๕ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เฝ้าฯ รับเสด็จ
ในการนี้ มีผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 1 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อาวุธ ศรีศุกรี เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

สำหรับปีการศึกษา ๒๕๕๕ มีผู้สำเร็จการศึกษาจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสังคม แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และจากสถาบันการบินพลเรือน ซึ่งเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัย เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทั้งสิ้น ๒,๓๙๖ คน ประกอบด้วย ดุษฎีบัณฑิต รุ่นที่ ๑๔ จำนวน ๕๕ คน มหาบัณฑิต รุ่นที่ ๑๕ จำนวน ๒๒๔ คน บัณฑิต มทส. รุ่นที่ ๑๗ จำนวน ๑,๘๐๘ คน และบัณฑิตจากสถาบันการบินพลเรือน รุ่นที่ ๑๓ จำนวน ๓๐๙ คน ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งและได้คะแนนยอดเยี่ยมเข้ารับพระราชทานเข็มทองคำ จำนวน ๒๐ คน

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทแก่บัณฑิต ความตอนหนึ่งว่า "...ถ้าบุคคลใดหมั่นนำหลักวิชามาพิจารณาเทียบเคียงใช้ในกิจประจำวัน โดยขวนขวายเพิ่มพูนความรู้ด้านต่าง ๆ ให้ยิ่งกว้างขวางลึกซึ้งขึ้น พร้อมทั้งติดตามศึกษาสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ให้ทันการณ์ทันโลกอยู่เสมอ บุคคลนั้นก็จะมีความสามารถจัดเจน ที่จะนำความรู้ในสาขาของตนไปประสานกับวิชาการด้านอื่น ๆ แล้วปรับใช้ให้เหมาะสมกับกิจที่ทำและสภาวการณ์ทุกอย่าง จนบังเกิดผลเป็นประโยชน์แก่ตนแก่ส่วนรวม” 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น