วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

รัฐสภาอุบลราชธานี จัดอบรมโครงการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนเป็นอาสารัฐสภาให้คำปรึกษาทางกฎหมายและการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ

วันนี้ (๒๙  เมษายน  ๒๕๕๗) เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ หอประชุมพญานาครินทร์ ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ   นายอภิชาติ คำทอง ผู้ตราจราชการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดการอบรมโครงการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนเป็นอาสารัฐสภาให้คำปรึกษาทางกฎหมายและการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญโดยมีนายสุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  นายอภิชาติ งามกมล   รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญและหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ

นางสาวสิตาวีร์ ธีรวิรุฬห์ หัวหน้าสำนักงานรัฐสภาอุบลราชธานีกล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการจัดอบรมครั้งนี้เพื่อให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ความเข้าใจกฎหมายเบื้องต้น มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนพร้อมทั้งเพื่อพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นำชุมชนมีความเข้มแข็ง เป็นฐานพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆเพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชนและสังคม ในการจัดอบรมมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมโครงการจำนวน ๒๓๐ คน

ปัจจุบันปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเกิดขึ้นมากและมีความซับซ้อนเกินกำลังของรัฐที่จะดูแลอย่างทั่วถึงได้ และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนของสังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหา ถึงแม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรตัวแทนประชาชนของประเทศ    ได้มีการสะท้อนปัญหาของประชาชนในแต่ละพื้นที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาเพื่อหาแนวทางการแก้ไขโดยวิธีดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติมาโดยตลอด เช่นเดียวกับการดำเนินงานด้านเรื่องร้องทุกข์ ซึ่งเป็นภารกิจการประสานเพื่อขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการแก้ไขเยียวยาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรตัวแทนของประชาชนซึ่งมีหน้าที่หลักในการตรากฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่มีอำนาจโดยตรงในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเกิดจากสาเหตุหลายประการ อาทิ ประชาชนยังไม่รู้ถึงวิธีการและแนวทางในการที่จะร้องเรียนเพื่อที่จะให้ได้รับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเหล่านั้น ถึงแม้ปัญหาความเดือดร้อนเหล่านั้นมีหน่วยงานของรัฐที่ดูแลรับผิดชอบอยู่แล้วก็ตาม แต่ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจและไม่สามารถที่จะเข้าถึงหน่วยงานนั้น ๆ ได้ และการดำเนินงานของรัฐไม่ได้มีการประสานให้เกิดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแบบบูรณาการ แต่ยังเป็นลักษณะการแก้ไขปัญหาแบบต่างคนต่างทำ      ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนและไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างแท้จริง ดังนั้น หน่วยงานของรัฐควรมีกระบวนการรับเรื่องราวร้องทุกข์และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแบบครบวงจร ตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ และดำเนินการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ รวมทั้งไม่ผลักปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนระหว่างส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐจนทำให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนมีความรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง ฉะนั้น บุคคลที่จะเป็นฝ่ายเชื่อมโยงกับประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีคือ ผู้นำชุมชน เพราะจะเป็นผู้รับทราบปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น จึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่เกิดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการมีความรู้ขั้นพื้นฐานทางกฎหมาย และมีความรู้ความเข้าใจถึงการแก้ไขปัญหาของประชาชนว่ามีเส้นทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร



จรูญ  พิตะพันธ์/ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น