วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ร้องผู้ว่าฯ เจ้าหน้าที่ป่าไม้กันที่ปลูกป่าทับที่ทำกินราษฎร

ชาวบ้านดงคำน้อย ต.ห้วยต้อน อ.เมืองชัยภูมิ กว่า 100 คน ชุมชนุมร้องผู้ว่าฯ แก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กันที่ปลูกป่าทับที่ทำกินราษฎร อ้างอยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ

เมื่อเวลา 09.30น. วันที่ 1 ก.ค. 56 ราษฎรจากบ้านดงคำน้อย ต.ห้วยต้อน อ.เมืองชัยภูมิ กว่า 100 คน ได้เดินทางมาปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เรียกร้องให้นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ สั่งให้อุทยานแห่งชาติตาดโตน ยุติการปลูกป่าในพื้นที่ทำกินของราษฎร พร้อมดำเนินการกันที่ทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นเขตแก้ปัญหา และเลิกข่มขู่ ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำกิน จับกุม ดำเนินคดี จนกว่าจะหาข้อยุติได้ ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้าไปปักแนวเขต เพื่อเตรียมปลูกป่า แต่ล้ำเข้าไปในเขตที่ทำกินของชาวบ้านดงคำน้อย ทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจ จึงรวมกันมาชุมนุมขอให้แก้ปัญหาโดยด่วน

ต่อมานายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ไปพบกับผู้ชุมนุมและเชิญขึ้นไปพูดคุย ในห้องประชุมศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เปิดโอกาสให้ชาวบ้านตัวจริง นำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง และให้หน่วยงานได้ชี้แจง พบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตน และได้รับความคุ้มครองจาก มติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ให้กันพื้นที่ทำกินออกจากที่อุทยานที่ผ่านมาทั้งชาวบ้านและส่วนราชการ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง จนสามารถกันพื้นที่ออกได้ และยังมีบางส่วนได้กันออกจากเขตลำห้วย และเหลือพื้นที่บางส่วนเป็นป่าเสื่อมโทรม ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชัยภูมิ จึงเสนอให้เป็นพื้นที่ปลูกป่า แผนปฏิบัติโครงการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษา มหาราชินีฯ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2555 (ปี พ.ศ.2556 – 2560) เนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่

ที่ประชุม ได้ข้อสรุป ให้จัดชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจ ป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ออกไปเดินสำรวจพื้นที่จริง ร่วมกับชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอข้อมูล จริง มาประชุม หาข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง แต่ให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลมีนโยบายปลูกป่าคืนธรรมชาติให้กับสิ่งแวดล้อม ตรงไหนเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญจริงๆ หรือเรียกว่าเป็นพื้นที่สีแดง ก็ต้องหวงห้ามเด็ดขาด เพื่อเก็บไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน แต่ถ้าเป็นพื้นที่สีเหลือง คือพื้นที่ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ยืนยันว่าจะใช้มาตรการผ่อนผันให้มากที่สุด เพื่อให้คนมีอาชีพ มีรายได้ มีที่ทำกิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ถ้าหากเป็นพื้นที่สีเขียว ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพได้ตามความเหมาะสม แต่ห้ามขายต่อมือ หรือขายให้นายทุนต่างถิ่น
 

 

สุระพงค์ สวัสดิ์ผล /ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น