วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เกษตรยโสธรเตือนเฝ้าระวังหอยเชอรี่ในนาข้าว

นายบุญศรี อ่อนละออ เกษตรจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า ขณะนี้ เกษตรกรได้ทำการหว่านข้าวแล้ว นาข้าวบางแห่งอาจมีน้ำขัง ทำให้หอยเชอรี่ระบาดสร้างความเสียหายให้กับต้นข้าว โดยเฉพาะต้นข้าวที่อยู่ในระยะกล้าหรือหลังปักดำใหม่ ๆ ไปจนถึงระยะแตกกอ หอยเชอรี่ทำลายต้นข้าวโดยกัดกินโคนที่อยู่ใต้น้ำ เหนือจากพื้นที่ 1-1.5 นิ้ว หลังจากนั้นจะกัดกินส่วนใบที่ลอยน้ำจนหมดใช้เวลากินทั้งต้นเพียง 1-2 นาทีเท่านั้น นอกจากจะพบในนาข้าวแล้ว ยังพบในพืชอื่นอีกด้วย เช่น ผักกระเฉด ผักบุ้ง แหน สาหร่าย เป็นต้น เนื่องจากหอยเชอรี่สามารถกินพืชที่มีลักษณะนุ่มเกือบทุกชนิด ตลอดจนซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยด้วย หากเกิดการระบาดของหอยเชอรี่อย่างรุนแรงย่อมส่งผลเสียหายต่อผลผลิตของเกษตรกรเป็นอย่างมาก เกษตรกรควรปฏิบัติ ดังนี้

1. หมั่นเก็บหอยและไข่มาทำลาย

2. ใช้ตาข่ายหรือสิ่งกีดขวางกั้นตามทางน้ำผ่าน

3. ใช้ไม้ปักหลักในนาข้าว โดยปักหลักในที่ลุ่ม หรือทางหอยผ่าน เพื่อล่อให้หอยมาวางไข่ง่ายต่อการเก็บทำลาย

4. ใช้เหยื่อล่อโดยใช้พืชที่มียางขาวคล้ายน้ำนม เช่น ใบมันสำปะหลัง ใบมะละกอ ใบยางอินเดีย มาวางในนาข้าวแล้วจับทำลาย

5. การใช้สารเคมี ควรใช้เมื่อมีระดับน้ำสูง 5-10 เซนติเมตร โดยใช้สารเคมีจำกัดหอยเชอรี่ ดังนี้

- นิโคลซาไมด์ ชื่อการค้า ไบลุสไซด์ 70 เปอร์เซ็นต์ WP อัตรา 50 กรัมต่อไร่ โดยนำสารเคมีมาละลายน้ำ และพ่นด้วยเครื่องฉีดพ่นหรือใส่บัวรดน้ำก็ได้

- เมทัลดีไฮด์ ชื่อการค้า แองโกลสลัก 5 เปอร์เซ็นต์ หรือเดทมีล 5 เปอร์เซ็นต์ สารชนิดนี้เป็นเหยื่อพิษสำเร็จรูปดัดเม็ดใช้หว่านอัตรา 0.5 – 1 กิโลกรัมต่อไร่



ส.ปชส.ยโสธร/ปิยะนุช 1 กรกฎาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น