วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จ.สุรินทร์ย้ำโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก - ครู ป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ในเด็ก

นางสาวกัญญรัตน์  เกียรติสุภา  ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ ได้รับแจ้งจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมาว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน และเป็นช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ จะมีเด็กนักเรียนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นจากการมาอยู่รวมกันได้แก่ โรคมือ เท้า ปาก (Hand foot and mouth disease) ซึ่งโรคนี้มักเกิดในเด็กเล็กทั่วไป เด็กที่ติดเชื้อโรคมือเท้าปาก จะมีไข้ 1-2 วัน จากนั้นจะมีตุ่มหรือแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน อาจมีหลายแผล ส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณคอหอยหรือใกล้ต่อมทอนซิล หากอาการรุนแรงจะลามมาที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม ทำให้เด็กเจ็บในปากและคอ ไม่ยอมดูดนม กินอาหารไม่ได้ ส่วนใหญ่เด็กที่ป่วยอาการจะค่อยดีขึ้นเรื่อยๆ และหายได้เองภายใน 7 วัน มีจำนวนน้อยที่มีอาการรุนแรง คือมีไข้สูง อาจมีอาการชัก แขนขาอ่อนแรง โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ

จังหวัดสุรินทร์ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยดูแลลูกหลานไม่ให้ป่วย  เพราะโรคนี้เป็นโรคที่ป้องกันได้ง่าย  โดยใช้หลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากเข้าไปในที่ชุมชนหรือใช้ห้องน้ำสาธารณะ โดยสามารถสังเกตอาการของเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ได้  คือเด็กมีไข้ปานกลางถึงไข้สูง ร่วมกับมีอาการเบื่ออาหาร กินอาหารไม่ได้ มีแผลในปาก มีตุ่มแดง ตุ่มพองขึ้นตามมือเท้า  ลักษณะไม่คัน ขอให้พาไปพบแพทย์ โรคนี้รักษาได้ ส่วนใหญ่มักอาการไม่รุนแรง  หายได้เองภายใน 7-10 วัน มีจำนวนน้อยมากที่จะมีโรคแทรกซ้อนในการรักษาจะใช้แบบประคับประคองบรรเทาอาการ เช่น ลดไข้ แก้ปวด ผู้ปกครองควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะๆ ให้เด็กกินอาหารเหลวหรืออาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไอศกรีม น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้ ให้เด็กนอนหลับพักผ่อนให้มากๆ หากเป็นเด็กอ่อนอาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดนม เพื่อลดอาการปวดแผลภายในปาก




กัญญรัตน์ เกียรติสุภา  ส.ปชส.สุรินทร์ / ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น