วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานีบินสำรวจ

หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงบินสำรวจพื้นที่ 10 อำเภอของจังหวัดอุดรธานี พบกระทงนา ไร่อ้อย มันสำปะหลังแห้งขอดโดยเฉพาะในพื้นที่ทางตอนล่างและทิศตะวันตก ในขณะที่เครื่องบินทำฝนเทียมของฝูงบิน 461 พิษณุโลก เดินทางมาถึงพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงในทันที

จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีนายปนิธิ เสมอวงษ์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออเกฉียงเหนือจังหวัดขอนแก่น จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานี ดูแลให้บริการปฏิบัติการฝนหลวงครอบคลุมพื้นที่อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย และสกลนคร ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556เป็นต้นไป โดยนายวีระยุทธ ภูขาว เป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานี และบุคลากรประจำหน่วย 14 คน บุคลากรจากกองบิน 23 อีก 20 คน และได้รับการสนับสนุนเครื่องบิน BT 67 เครื่องบินประจำการในการปฏิบัติการฝนหลวง จากฝูงบิน 461 พิษณุโลก

เพื่อเป็นการบินสำรวจพื้นที่ก่อนวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง เช้าวันนี้ ( 3 ก.ค.56 ) นายวีระยุทธ ภูขาว หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานี นำผู้แทนสำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุดรธานี และสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุดรธานี บินสำรวจสภาพพื้นที่การเกษตรและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญๆ ในพื้นที่อำเภอเมือง กุมภวาปี โนนสะอาด ศรีธาตุ วังสามหมอ ไชยวาน หนองหาน ทุ่งฝน บ้านดุง สร้างคอม เพ็ญ ซึ่งใช้เวลาบินสำรวจนานกว่า 2 ชั่วโมง พบว่าพื้นที่ทางตอนล่างและทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะอำเภอเมือง กุมภวาปี โนนสะอาด กระทงนา ไร้อ้อย ไร่มันสำปะหลังแห้งขอด ในขณะที่ในพื้นชุ้มน้ำในบริเวณลำน้ำห้วยหลวง ลำน้ำสงครามทางด้านตะวันออกของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งประกอบด้วยอำเภอเพ็ญ สร้างคอม กระทงนามีน้ำท่วมขัง และจากการสอบถามนักบิน และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานี ทำให้ทราบว่าวันนี้เมฆก่อตัวเหมาะสำหรับทำฝนหลวง ซึ่งในการบินสำรวจนั้นจะใช้ความสูงเพียง 50 – 80 ฟิต แต่ในการทำฝนหลวงต้องใช้ความสูงมากกว่าความสูงในการบินสำรวจประมาณ 8 - 10 เท่า

ในปี 2555 จังหวัดอุดรธานีมีพื้นที่ฝนทิ้งช่วง 3 อำเภอ 313 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 15,983 คน พื้นที่เกษตร 122,618 ไร่ และมีพื้นที่ภัยแล้ง 18 อำเภอ 131 ตำบล 1,277 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับความเสียหาย 40,715 คน พื้นที่ได้รับความเสียหาย 254,301 ไร่

และจากรายงานสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่าของแหล่งน้ำชลประทานที่อยู่ในความดูแลรับ ผิดชอบของโครงการชลประทานอุดรธานี ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2556 พบว่า ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสะสม ปี 2556 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556- 2 กรกฎาคม 2556 มีปริมาณน้ำฝนตกสะสมเท่ากับ 584.87 มิลลิเมตร ในขณะที่ปริมาณน้ำในอ่าง 15 แห่งในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีความจุระดับกักเก็บรวม 275.830 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำเพียง 39.303 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 14.25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2556 มีปริมาณทั้งสิ้น 25.660 ล้าบลูกบาศเมตร




 ทีมข่าว ส.ปชส.อด. ศรีภูมิ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ข่าว/ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น