บุญซำฮะ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการชำระล้างสิ่งสกปรก รกรุงรังออกจาก
บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ร่างกาย จิตใจให้สะอาด สดใส
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม
ริเริ่มจัดงานประเพณีบุญซำฮะขึ้นเป็นครั้งแรก
หวังให้ชาวมหาสารคามร่วมกันสร้างบุญ ชำระกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์
ติดตามได้จากรายงาน......
ในฮีตสิบสองกล่าวไว้ว่า
เมื่อถึงเดือนเจ็ดให้พากันบูชาเทวดาอารักษ์หลักเมือง อีกทั้งมเหศักดิ์
เพื่อขอความคุ้มครองจากเทวดาอารักษ์
ให้ปกปักรักษาบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีเหตุเภทภัยต่าง ๆ
มากล้ำกราย ครั้นถึงวันทำบุญ ชาวบ้านจะพากันมารวมกันที่ศาลากลางบ้าน
โดยนำดอกไม้ ธูปเทียน ขันน้ำ ขันใส่กรวดทราย และฝ้ายผูกแขน
มารวมที่ศาลากลางบ้าน ตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
เช้าวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านจะนำข้าวปลา อาหารมาทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหาร
เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จ จะให้พรและรดน้ำมนต์ให้กับชาวบ้านที่มาในงาน
ทุกคนจะนำขันน้ำมนต์ ฝ้ายผูกแขน ขันกรวดทรายกลับไปที่บ้านเรือนของตนเอง
เพื่อนำน้ำมนต์ไปประพรมให้แก่คนในครอบครัว บ้านเรือน สัตว์เลี้ยง ส่วนฝ้าย
ก็นำไปผูกแขนลูกหลานทุกคน เชื่อว่าจะนำความสุขและสิริมงคลมาสู่สมาชิกทุกคน
และกรวดทราย นั้น จะนำไปหว่านรอบ ๆ บริเวณบ้าน เรือกสวนไร่นา
เพื่อขับไล่เสนียด จัญไร และสิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้หมดสิ้นไป
ด้วยสาระสำคัญดังกล่าว นายนพวัชร สิงห์ศักดา
ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม
จึงมีแนวคิดที่จะสืบสานประเพณีบุญซำฮะขึ้นเป็นปีแรกของจังหวัดมหาสารคาม
ด้วยเพราะในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น
จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
อีกทั้งเพื่อเป็นการร่วมกันสร้างบุญกุศล ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์
ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาดเรียบร้อย
คำว่า "ซำฮะ” เป็นภาษาไทยอีสานตรงกับภาษาไทยภาคกลางว่า
"ชำระ” หมายถึง ทำให้สะอาด ปราศจากมลทิน ซึ่งจังหวัดมหาสารคาม
กำหนดจัดงานประเพณีบุญซำฮะ ในระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2556
ที่บริเวณหอพระประธานกันทรวิชัย โดยวันแรกก่อนเริ่มพิธีกรรม เวลา 09.00 น.
จะเป็นพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง ช่วงเย็น ตั้งแต่เวลา 16.00 น.
จะมีการตรวจดวงชะตา พิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ ปฏิบัติธรรม
โดยพุทธศาสนิกชนจะต้องเตรียมหินกรวด ทราย น้ำมนต์ ฝ้ายผูกแขน
มาร่วมพิธีดังกล่าวด้วย
เช้าวันรุ่งขึ้น ตั้งแต่ เวลา 07.00 น.
พุทธศาสนิกชนก็ได้จัดเตรียมอาหาร เพื่อมาร่วมทำบุญตักบาตร
ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
เมื่อฉันเสร็จพระสงฆ์อนุโมทนาและประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ผู้ร่วมพิธี
จากนั้นก็จะเป็นพิธีปัดรังควาน โดยพระเทพสิทธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดมหาสาราม
เจ้าอาวาสวัดมหาชัย พระอารามหลวง เป็นองค์ประธานในการประกอบพิธี
เสร็จแล้วชาวบ้านก็จะนำกรวด หิน ทราย น้ำมนต์
ที่เตรียมมาเข้าร่วมในพิธีปัดรังควาน ไปประพรมที่บ้านเรือน
หรือสถานที่ทำงานของตนเองเพื่อความเป็นสิริมงคล
ช่วงสายวันเดียวกันก็จะเป็นพิธีแห่
กระทงสามเหลี่ยมใส่อาหารคาว หวาน และเครื่องบัตรพลีสังเวย
ขบวนแห่ทั้งหมดก็จะแยกไปรอบเมืองทั้ง 4 ทิศ เพื่อประกอบพิธีปัดรังควาน
พร้อมเป็นการร่วมสร้างบุญ ชำระกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์
ชนกพร โพธิสาร ส.ปชส.มหาสารคาม...รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น