วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประมงจังหวัดสุรินทร์ เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาหน้าหนาว ควรให้อาหารช่วงบ่ายและให้น้อยลง พร้อมกับควรระวังปลาช่อน มักเป็นโรคในช่วงนี้

 นายสมชาย เจียรทิพย์วิไล ประมงจังหวัดสุรินทร์ เตือนพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ในหน้าหนาวควรให้อาหารปลาในช่วงบ่าย และน้อยลงพร้อมทั้งการดูแลหรือป้องกันโรคที่จะเกิดกับปลาในช่วงฤดูหนาว เพราะในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิในตัวปลาจะลดต่ำลง การเผาผลาญอาหารก็จะต่ำลงไปด้วย ควรพยายามงดการเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อ และไม่นำน้ำจากธรรมชาติเข้ามาในบ่อ เช่น น้ำในคลอง เพราะอาจมีเชื้อโรคปะปนเข้ามา ถ้าต้องการเปลี่ยนถ่ายน้ำก็ควรมั่นใจว่าน้ำที่จะเปลี่ยนนั้นสะอาดจริงๆ ส่วนปลาที่เลี้ยงในบ่อดินควรรักษาสภาพน้ำให้อยู่ในสภาพดี โดยสาดปูนขาวลงในบ่อ ประมาณ 60-100 กิโลกรัม/บ่อเลี้ยงปลา 1 ไร่ และใส่ซ้ำอีกในอัตราเดียวกันทุก 3-4 สัปดาห์ ในกรณีที่มีแก๊สผุดขึ้นมาจากพื้นก้นบ่อ ให้สาดเกลือ 200-300 กิโลกรัมต่อบ่อขนาด 1 ไร่ โดยสาดเกลือบริเวณที่มีแก๊ส ประมงจังหวัดสุรินทร์ กล่าวอีกว่า ปลาที่เลี้ยงในกระชังบริเวณน้ำตื้น ควรย้ายไปอยู่บริเวณน้ำลึก

ซึ่งจะเป็นการปรับอุณหภูมิของน้ำเพราะอุณหภูมิน้ำลึกจะสูงกว่า ควรช้อนปลาที่ตายหรือป่วยใกล้ตายออกเท่าที่จะทำได้ และทำลายโดยการฝังดินหรือเผาทิ้ง ใช้ยาปฏิชีวนะผสมอาหาร เช่น ยาอ๊อกซี่ (5 กรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม) ผสมอาหารให้ปลากินนาน 14 วัน และไม่ควรใช้ยาสองชนิดรวมกัน เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพยาลดลง หรือไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ส่วนวิตามินซีให้ใช้ได้ (ถ้าให้ปลากินอ๊อกซี่แล้ว 7 วัน ปลายังไม่ลดการตาย ให้เปลี่ยนยาโดยใช้ยาอัมม๊อกซีรีน 250 หรือ 500 ผสมอาหาร 1 เม็ด/อาหาร 1 กิโลกรัม ให้ปลากินนาน 7 วัน) เมื่อพบว่าปลาในบ่อและปลาในธรรมชาติหายป่วยแล้ว จึงทำการเปิดถ่ายน้ำ และให้อาหารปลาปกติ ควรระวังปลาช่อนมักเกิดโรคในหน้านี้

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่ยังไม่มีปัญหาโรคปลาก็ควรสังเกตปลาในธรรมชาติหรือปลาที่เลี้ยงไว้ หากมีความผิดปกติให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว และเข้าขอรับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำสุรินทร์ หรือที่สำนักงานประมงจังหวัดสุรินทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น