วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นการสร้างทางรถไฟสายอีสาน ที่มหาสารคาม

การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเวทีชี้แจงรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นจากประชาชนที่จังหวัดมหาสารคาม

ที่ห้องประชุมโรงแรมตักสิลา จังหวัดมหาสารคาม นายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 1 ต่อโครงการสำรวจออกแบบทางวิศวกรรมและการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ -มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร - นครพนม ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยจัดขึ้น โดยมีหัวหน้าหน่วยงานราชการระดับจังหวัด อำเภอ นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน เข้าร่วมรับฟังข้อมูลและเสนอความคิดเห็นกว่า 250 คน ทั้งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบขอบเขตและรายละเอียดของโครงการ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการสำรวจออกแบบ โครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้เริ่มศึกษาความเหมาะสมมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เพื่อเป็นการทบทวนผลการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2555 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทบทวนผลการศึกษาและคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม คือ เส้นทางสายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร - นครพนม รวมระยะทางประมาณ 356.7 กิโลเมตร ออกแบบเป็นระบบรางคู่ขนาดความกว้างทาง 1,000 มิลลิเมตร ความเร็วสูงสุดในการออกแบบ 160 กม./ชม. เงินลงทุนประมาณ 42,000 ล้านบาท โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เพื่อสำรวจออกแบบทางวิศวกรรมและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดระยะเวลาไว้ 15 เดือน และเปิดให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

และจากรายงานข้อมูลการศึกษาเส้นทางรถไฟดังกล่าว ระบุว่า เส้นทางสายนี้ มีความเหมาะสมสูงสุด ทั้งด้านวิศวกรรมและจราจร รวมทั้งเป็นเส้นทางที่ปริมาณสินค้าและผู้โดยสารจำนวนมาก ส่วนด้านเศรษฐกิจและการลงทุนก็ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเส้นทางอื่นๆ โดยแนวเส้นทางนี้จะครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และจังหวัดนครพนม มีสถานีในเบื้องต้น 15 สถานี ประกอบด้วยสถานีบ้านไผ่ กุดรัง บรบือ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เชียงขวัญ โพนทอง หนองพอก เลิงนกทา นิคมคำสร้อย มุกดาหาร หว้านใหญ่ ธาตุพนม เรณูนคร และสถานีนครพนม รวมระยะทางประมาณ 356.7 กิโลเมตร ซึ่งนอกจากจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ยังเป็นการเชื่อมต่อระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม และจีนด้วย




ส.ปชส.มหาสารคาม / ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น