วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

จังหวัดนครราชสีมาประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

วันนี้ (5 ก.ย. 56) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายสุชาติ นพวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อวางแนวทางการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตามแผนแม่บทเร่งด่วนขับเคลื่อนการป้องกันการค้ามนุษย์ ตามมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ในการประชุมสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมารายงานถึงสถานการณ์การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ไตรมาสที่ 1 ตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2555 มีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จำนวน 76 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 70 คน มีอายุต่ำกว่า 18 ปี 56 คน รองลงมา อายุ 18-25 ปี 14 คน อายุ 36-45 ปี 4 คน และอายุ 45 ปี ขึ้นไป 2 คน โดยได้รับการช่วยเหลือในการส่งกลับภูมิลำเนา การคุ้มครองสวัสดิภาพบ้านพัก การแจ้งความและส่งกลับประเทศต้นทาง ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ สัญชาติไทย 64 คน ลาว 12 คน รูปแบบการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่เป็นการค้าประเวณี

ไตรมาสที่ 2 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2556 มีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จำนวน 88 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 84 คน มีอายุต่ำกว่า 18 ปี 70 คน รองลงมา อายุ 18-25 ปี 14 คน อายุ 36-45 ปี 4 คน โดยได้รับการช่วยเหลือในการ การคุ้มครองสวัสดิภาพบ้านพัก การแจ้งความและฝึกอาชีพ 6 คน ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ สัญชาติไทย 25 คน ลาว 63 คน รูปแบบการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่ยังเป็นการค้าประเวณี

ไตรมาสที่ 3 ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2556 มีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ได้รับการช่วยเหลือ 56 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 55 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 54 คน อายุ 18 - 25 ปี 2 คน ได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย 4 คน ทางสังคมให้การคุ้มครองสวัสดิภาพที่บ้านพัก 7 คน ส่งสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ 49 คน มีสัญชาติไทย 49 คน สัญชาติลาว 7 คน ค้าประเวณี 52 คน ขอทาน 2 คน บังคับใช้แรงงานหรือบริการ 2 คน

นางสาววารินทร์ พักเกาะ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ได้ส่งผลกระทบในทางลบให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก รัฐบาลภายใต้การน้ำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการค้ามนุษย์ และกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ความสำคัญใน 4 ปัญหาหลัก คือ ปัญหาการค้ามนุษย์ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม การใช้แรงงานเด็ก และการกระทำต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น