วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

มหาสารคาม เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาแนวทางแก้ไขปัญหาการเลี้ยงปลากระชังพันธสัญญา

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรเกษตรกรและนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเลี้ยงปลากระชังพันธสัญญาของเกษตรกรลุ่มน้ำ ชี

ที่ห้องประชุมแม่น้ำของ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายคงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม นำเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังลุ่มน้ำชีในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลเชิงวิชาการ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังพันธสัญญา โดยมีนายธวัช สุระบาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดโครงการ จัดโดยความร่วมมือของสภาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม กับหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกิจกรรมการนำเสนอผลการศึกษาข้อมูลปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาใน กระชัง จากคณะทำงานศึกษาข้อมูลปัญหาเกษตรกรพันธสัญญาจังหวัดมหาสารคาม และมีการเสวนาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกษตรกรพันธสัญญา โดยนายอำนวย ปะติเส สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาจารย์เจิมศักดิ์ ภวภูตานนท์ เลขาธิการสภาฮักแพงเบิ่งแงงคนมหาสารคาม นายอุบล อยู่หว้า คณะทำงานติดตามนโยบายเกษตรกรพันธสัญญา และนายสุรศักดิ์ วานิชกิจ ตัวแทนองค์กรเกษตรกรด้านประมง สภาเกษตรกรแห่งชาติ จากการศึกษาข้อมูลของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังเขตพื้นที่จังหวัด มหาสารคามโดยสรุปพบว่ามีจำนวนผู้เลี้ยงจำนวน 285 ราย จำนวนกระชังปลากว่า 4,900 กระชัง พื้นที่กระชังรวมกว่า 44,000 ตารางเมตร มีการเลี้ยงมากที่สุดในอำเภอโกสุมพิสัย รองลงมาเป็นเขตอำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมือง ผลผลิตปลากระชังประมาณ 5,900 ตันต่อปี มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท แต่เกษตรกรร้อยละ 90 อยู่ในระบบพันธสัญญา ต้องรับปัจจัยการผลิตทุกอย่างจากบริษัท ทำให้เกษตรกรไม่มีอิสระในการเลือกซื้อและขาย ซึ่งเกษตรกรต้องขายปลาให้กับบริษัทเท่านั้น ทั้งที่เกษตรกร เป็นผู้ลงทุนจัดหาโครงสร้างทั้งหมด เช่น กระชัง โรงเรือน และแรงงาน จึงเกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม เผชิญความเสี่ยงการเลี้ยง การตลาด การขาดทุน การไร้อำนาจต่อรอง และผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค เนื่องจากพบว่ามีการแนะนำให้เกษตรกรใช้ยาปฏิชีวนะควบคุมโรค ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามักไม่ได้ผล และเกิดการตกค้างในเนื้อปลาและสิ่งแวดล้อม

สำหรับข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหา ต้องมีการรวมกลุ่มสร้างอำนาจการต่อรองในระดับจังหวัดและระดับแระเทศ ต้องมีกลไกระดับท้องถิ่น และระดับจังหวัดเข้ามาช่วยควบคุมดูแลการเลี้ยงปลาในกระชัง ทั้งปัญหาของเกษตรกรและปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วนข้อเสนอระดับนโยบายต้องมีระบบกฏหมายใหม่ เข้ามาจัดระบบความสัมพันธ์ภายใต้ระบบเกษตรกรรมแบบพันธสัญญาที่ไม่เป็นธรรม



ส.ปชส.มหาสารคาม / ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น