วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

บึงกาฬนำ กรอ. จังหวัดบึงกาฬมาร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดอย่างจริงจัง

วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วม ภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดบึงกาฬ (กรอ.จังหวัดบึงกาฬ) ครั้งที่ ๑ ประจำปี ๒๕๕๖ การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ กรอ.จังหวัดบึงกาฬ เป็นกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด รวมทั้งระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และปัญหาเศรษฐกิจของจังหวัด เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ รวมทั้งรับทราบและติดตามผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า การลงทุนของจังหวัดการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานร่วมกัน

ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๕ (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) โดยในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๖ นี้ กรมทางหลวงจะลงนามกับบริษัทเอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ (AEC) จำกัด ในวงเงิน ๔๐ ล้านบาท เพื่อทำการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบรายละเอียดสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๕ โดยกำหนดเวลาการศึกษาเป็นเวลา ๑ ปี เรื่องนี้เป็นการยืนยันว่าการสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ ๕ มีแน่นนอนส่วนความคืบหน้ารายละเอียดการดำเนินงานนั้นจะนำเสนอในโอกาสต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบโครงการขยายทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒๑๒ (ถนนโพนพิสัย – บึงกาฬ) เป็น ๔ ช่องจราจร มีทั้งสิ้น ๓ ช่วง รวมระยะทาง ๘๑.๖๗๕ กิโลเมตร วงเงินรวม ๓,๒๔๐ ล้านบาท โครงการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๒ (ถนนพังโคน – บึงกาฬ) เป็น ๔ ช่องจราจร ระยะทางรวม ๓๑ กิโลเมตร วงเงินรวม ๖๘๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นการเสนอความต้องการเบื้องต้น กับรับทราบโครงการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๒ (ถนนห้วยก้านเหลือง – ดงบัง) ระยะทางรวม ๑๘.๗๘ กิโลเมตร วงเงินที่เสนอขอความต้องการ ๔๕๕
ล้านบาท

สำหรับภาพรวมภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดบึงกาฬ ณ เดือน กรกฎาคม ๒๕๕๖ นั้นปรากฏว่า การบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐบาล การค้าชายแดน ลดลงเป็นส่วนใหญ่ แต่การลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นถึง ๒๐.๗๐ เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการของจังหวัด การลงทุนก็ลดลงเป็นส่วนใหญ่ถึง ๑๑.๔๒ เปอร์เซ็นต์ โดยรวมแล้วภาวะเศรษฐกิจการคลังหดตัวลง ๘.๖๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนโครงการผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดบึงกาฬนั้น อันดับหนึ่งเป็น สาขาเกษตร ร้อยละ ๓๖.๕๐ มูลค่า ๗,๙๐๓ ล้านบาท รองลงมาเป็น สาขาอุตสาหกรรม ร้อยละ ๑๕.๔๒ มูลค่า ๓,๓๓๘ ล้านบาท สาขาขายส่งขายปลีก ร้อยละ ๑๐.๕๓ มูลค่า ๒,๒๘๐ ล้านบาท สาขาก่อสร้าง ร้อยละ ๘.๖๘ มูลค่า ๑,๘๗๙ ล้านบาท และสาขาอื่นๆ เช่น การประมง เหมืองแร่ โรงแรม การศึกษา เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ ๘.๔๓ มูลค่า ๑,๘๒๖ ล้านบาท

ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยอีกว่า สำหรับภาพรวมการค้าชายแดนระหว่างไทยกับ สปป.ลาว บริเวณจังหวัดบึงกาฬ – เมืองปากซันนั้น เมื่อเทียบกับ ๒๕๕๕ มูลค่าการค้าลดลงตามลำดับ ทั้งนี้เป็นเพราะความไม่สะดวกในการขนถ่ายสินค้า โดยแพขนานยนต์ที่จังหวัดบึงกาฬ ประกอบกับผู้ค้าส่วนหนึ่ง ไปใช้บริการขนถ่ายสินค้าที่สะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ ๑ – ๓ ซึ่งมีความสะดวกกว่า ซึ่งจังหวัดบึงกาฬได้แก้ไขปัญหานี้ โดยขอให้ผู้ประกอบการแพขนานยนต์พัฒนาประสิทธิภาพการบริการให้รวดเร็ว ทันตามความต้องการของผู้ใช้บริการแล้ว









สปชส.บึงกาฬ ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น