วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สัมมนาอนาคตการทำสวนยางพาราที่จังหวัดบึงกาฬ

วันนี้ 15 ก.ย. 56 เวลา 09.30 น. นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บรรยายพิเศษ เรื่อง แนวโน้มราคายางพาราตลาดโลกหลังการเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียนและนโยบาย แนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำของรัฐบาล ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ โรงแรมเดอะวัน อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ โดยจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์วุฒิสภา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกันจัดสัมมนาครั้งประวัติศาสตร์ของจังหวัดบึงกาฬ ในหัวข้อ "อนาคตการทำสวนยางพาราในจังหวัดบึงกาฬ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางการทำสวนยางพาราแบบประณีตในจังหวัดบึงกาฬอย่างยั่งยืน และเพื่อหาแนวทางการพัฒนาการปลูกยางพารา การดูแลรักษา การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี การปลูกพืชแซมยาง การปลูกพืชผสมผสานเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ การปลูกพืชทดแทน การเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนราคายางพารา และการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับเจ้าภาพหลักในการจัดสัมมนาครั้งนี้ อยู่ภายใต้การควบคุมของ พลตำรวจตรี ขจร สัยวัตร์ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาการเกษตรกรรมแบบประณีต กรณีศึกษาจังหวัดบึงกาฬ และจะมีผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรผู้ปลูกยางพารากว่า 600 คน

นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่ทั้งหมด 2,690,625 ไร่ การปกครองมี 8 อำเภอ 53 ตำบล 634 หมู่บ้าน 59,703 ครัวเรือน มีเทศบาล14 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 44 แห่ง พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว พืชไร่ มันสำปะหลัง พืชผัก ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ สมุนไพรและเครื่องเทศ เนื้อที่รวม 1,569,731 ไร่ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าว และปาล์มน้ำมัน สำหรับยางพารา มีพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด 721,921 ไร่ เกษตรกร 51,181 ราย ทั้งนี้ จังหวัดบึงกาฬมีการปลูกยางพาราเป็นอาชีพตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา และขยายมากขึ้นทั้งการส่งเสริมจากรัฐบาลและทุนของตนเอง ปี 2554 ยางพารามีราคาเป็นแรงจูงใจในการตัดสินใจเลือกปลูก มีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 7-8 แสนไร่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว จึงไม่มีรายได้ด้านอื่นเป็นเหตุให้ต้องกรีดยางพาราก่อนอายุ ทำให้ต้นยางเสื่อมเร็ว อีกทั้งจุดอ่อนของจังหวัดบึงกาฬ คือ ชุดดินเป็นดินโพนพิสัย ที่มีหน้าดินตื้น มีธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อดินน้อย ส่วนใหญ่เป็นดินลูกรัง ดังนั้น คุณภาพดินจึงสู้ภาคใต้ไม่ได้ ต้นยางจึงโตช้ากว่าในเรื่องพันธ์ยาง ผลงานวิจัยที่ออกมาหลักๆ คือ การวิจัยพันธุ์ยางพารา RRIM 408 สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับพอสมควร แต่ปัญหาคือ การกระจายพันธุ์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร ที่ผ่านมาการปลูกพันธุ์ RRIM 600 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นการปลูกพันธุ์เดียวกันในพื้นที่เดียวกัน อาจเกิดปัญหาการอ่อนแอต่อโรคใบจุดก้างปลา และได้เริ่มต้นระบาดแล้ว

นอกจากนี้การปลูกยางพาราในจังหวัดบึงกาฬยังเกิดปัญหาอีกหลายประการ ได้แก่ ปัญหาราคาตกต่ำเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุม เป็นเรื่องที่ระดับนโยบายจะต้องแก้ไขปัญหา เพราะยางพาราเป็นพืชการเมือง ราคาสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ปัญหาการกรีดยางต้นเล็ก ซึ่งเป็นอันตรายต่อต้นยางมาก จากสถิติพบว่าการกรีดยางต้นเล็กจะทำให้ต้นยางตายประมาณร้อยละ 70 นอกจากนั้นยังมีการใช้สารเคมีป้ายหน้ายางเพื่อให้น้ำยางไหล เนื่องจากผู้รับจ้างกรีดต้องการการปันผลประโยชน์ให้ได้จำนวนมาก ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจทำให้ต้นยางตายจำนวนมาก บางแห่งเกือบหมดสวน ปัญหายางพารารุกพื้นที่นาข้าว เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เนื่องจากเกษตรกรปลูกยางพาราแล้วจะมีฐานะดีขึ้นในขณะที่ชาวนาปลูกข้าวแล้วมีแต่หนี้สิน จึงไม่สามารถห้ามเกษตรกรปลูกยางพาราในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (นาข้าว) ได้ ดังนั้น เกษตรกรควรมีการเตรียมการเพื่อเตรียมรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหายางพาราว่า แนวทางที่รัฐบาลเตรียมไว้ก็คือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของภาคเกษตรกรในการที่จะช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายเพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งมีการจ่ายเป็นเงินสดให้เกษตรกรไร่ละ 2,520 บาท ในวงเงินไม่เกิน 25 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนเกษตรกร และเตรียมการโอนเงินเข้าธนาคาร ธกส. และเกษตรกรจะรับเงินโดยตรงจาก ธกส.ไม่ต้องผ่านคนกลางโดยให้พี่น้องเกษตรกรเปิดบัญชีธนาคาร ธกส. ส่วนขั้นตอนต่อไป คือ รัฐบาลได้เตรียมวงเงินให้กู้ยืมไว้ 5,000 ล้านบาท สำหรับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลจะรับผิดชอบดอกเบี้ยให้ โดยเกษตรกรสามารถจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางให้มีคุณภาพมากขึ้น ตรงกับความต้องการของตลาด และโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องไปพึ่งกับราคายางที่เกี่ยวข้องกับราคาตลาดโลก

สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางพาราภาคใต้บางส่วนที่ยังมีการชุมนุมอยู่ในขณะนี้ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว ว่ามีความต้องการอย่างไร เนื่องจากมาตรการที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือในขณะนี้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศให้การยอมรับแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น