วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

คณะเอกอัครราชทูตอาเซียนเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง

 คณะเอกอัครราชทูตอาเซียน เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง เนื่องในโอกาสเดินทางมาเยือนจังหวัดอุดรธานี ตามโครงการคณะเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และเอกอัครราชทูตของประเทศคู่เจรจาประจำอาเซียน 10 ประเทศ เยือนจังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 28 – 29 พ.ย. 2556

เช้าวันนี้ ( 29 พ.ย.56 ) ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานีคณะเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และเอกอัครราชทูตของประเทศคู่เจรจาประจำอาเซียน 10 ประเทศ เข้าเยี่ยมชมห้องจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง เพื่อศึกษาดูงานด้านการเชื่อมโยงของไทยตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity) ที่จัดขึ้นโดย กรมอาเซียน กระทรวงต่างประเทศร่วมกับคณะผู้แทนถาวรไทย ณ กรุงจาการ์ตา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง ถือกำเนิดขึ้นภายหลังจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2515 ก่อให้เกิดความตื่นตัวของคนในท้องถิ่นที่จะช่วยดูแลรักษาทำนุบำรุงแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงที่กำลังถูกขุดทำลายจากขบวนการค้าวัตถุ เพื่อให้เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสืบต่อไป ในปีพ.ศ. 2518 กรมศิลปากรได้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง โดยเปิดให้สาธารณชนเข้าชมตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ในปี พ.ศ. 2526 มูลนิธิจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ได้สนับสุนนงบประมาณจัดสร้างอาคารหลังที่ 2 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานนามว่า "อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จแทนพระองค์ ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530

ในปีพ.ศ. 2549 กรมศิลปากรได้รับงบประมาณตามโครงการปรังปรุงแหล่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในภูมิภาคอินโดจีน ดำเนินการก่อสร้างอาคารจัดแสดงนิทรรศการ และปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวร และส่วนบริการต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโดปรดกระหม่อม พระราชทานนามอาคารหลังใหม่ว่า "อาคารกัลยาณิวัฒนา” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารกัลยาณิวัฒนา ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง มีส่วนจัดแสดงและส่วนบริการภายในอาคารต่างๆ ประกอบด้วย อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นส่วนบริการ ประกอบด้วย ห้องจำหน่ายบัตร หนังสือและของ ที่ระลึก ห้องประชุม ห้องควบคุมและรักษาความปลอดภัย และห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนอาคารกัลยาณิวัฒนา เป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวร ซึ่งสร้างเชื่อมต่อจากอาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายในมีส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวร 9 เรื่อง อาทิ การจัดแสดงเรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุมขุดค้นทางโบราณคดีบ้านเชียง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2515 ทรงเยี่ยมราษฎร , เรื่องราวความเป็นมาด้านโบราณคดีที่บ้านเชียง ,การปฎิบัติงาน ของนักโบราณคดี ระหว่างปี พ.ศ. 2517 – 2518 ผ่านยสื่อวีดีทัศน์ที่ ,บ้านเชียง : หลุมขุดค้นทางโบราณคดี, โบราณวัตถุจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรี, 6 วัฒนธรรมบ้านเชียงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ,การค้นพบยุคสำริดที่สาบสูญ ,เรื่องแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการยกย่องและประกาศให้เป้นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมในลำดับที่ 359 เมื่อปี พ.ศ. 2535 และ การกระจายตัวของวัฒนธรรมบ้านเชียง อาคารนิทรรศการไทพวน

บริเวณใกล้กันยังมีหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีใน ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดโพธิ์ศรีใน อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑสถานบ้านเชียง ไปทางทิศตะวันออก 500 เมตร จัดแสดงในรูปแบบของพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้งแห่งแรกของประเทศไทย และเรือนไทพวน เดิมเป็นบ้านของนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ ชาวบ้านเชียงที่อนุญาตให้กรมศิลปากรเข้ามาใช้พื้นที่ดำเนินงานทางโบราณคดี ต่อมาได้มอบบ้านและที่ดินให้แก่กรมศิลปากร เพื่อปรับปรุงเป็นอนุสรณ์สถานเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินมายังหลุมขุดค้นและเรือนไทพวนหลังนี้ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2515 เรือนไทพวนหลังนี้ ได้รับรางวัลพระราชทานด้านการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2550 โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระราชูปถัมภ์



     ทีมข่าว ส.ปชส.อด. ศรีภูมิ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ภาพ
     เจนจิรา สีหาภูธร นศ.ฝึกงานข่าว /ภาพนิ่ง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น