วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556

กองพลทหารราบที่ 6 ทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาค่าย ครบรอบ 34 ปี

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ณ บริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ภายในค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด พลตรี ธรากร ธรรมวินทร ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 เป็นประธาน นำรองผู้บัญชาการ เสนาธิการ คณะนายทหาร นายสิบ ประกอบพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 และพิธีทำบุญทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคล และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารในสังกัดที่เสียชีวิตเพื่อชาติ โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นร่วมพิธีจำนวนมาก

กองพลทหารราบที่ 6 เป็นหน่วยขึ้นตรงของ กองทัพภาคที่ 2 จัดตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 11 ธันวาคม 2522 ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังมีความขัดแย้งในภูมิภาคอินโดจีน กองทัพบกได้รับอนุมัติขยายกำลังกองทัพ เพื่อเผชิญกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นทั้งในและภายนอกประเทศในขณะนั้น กองทัพบกได้มีคำสั่ง ( เฉพาะ ) ที่ 155/22 ลง 11 ธันวาคม 2522 ให้จัดตั้งกองบัญชาการและกองร้อยกองบัญชาการกองพลขึ้น โดยมีที่ตั้งขั้นต้นในค่ายสุรธรรมพิทักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และย้ายเข้าที่ตั้งปกติถาวรที่บ้านโสกเชือก ตำบลสวนจิก อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปีพุทธศักราช 2528 ซึ่งต่อมากระทรวงมหาดไทยได้เปลี่ยนแปลงเขตการปกครองใหม่ จึงทำให้กองพลทหารราบที่ 6 มีที่ตั้งอยู่ที่ บ้านโสกเชือก ตำบลโพธิ์สัย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเป็นเกียรติประวัติของหน่วยในการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่รักความมั่นคงของชาติได้ผลดีต่อเนื่องตลอดมา อีกทั้งให้กำลังพลของกองพลทหารราบที่ 6 มีที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ กองทัพบก จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ชื่อค่ายทหารให้เป็นเกียรติประวัติแก่หน่วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อค่ายทหารว่า "ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” เมื่อ 11 เมษายน 2527

กองพลทหารราบที่ 6 ได้ถือเอาวันที่ 11 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาของหน่วย ปัจจุบันกองพลทหารราบที่ 6 มีหน่วยขึ้นตรง 16 หน่วย เป็นหน่วยกำลังรบหลักของ กองทัพภาคที่ 2 และกองทัพบก ในการจัดกำลังป้องกันประเทศ เป็นหน่วยหลักของ กองกำลังสุรนารี รับผิดชอบป้องกันชายแดนพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นระยะทางพื้นน้ำ 188 กิโลเมตร และพื้นดิน 562 กิโลเมตร



ประเสริฐ อินทา/ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น