วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความเป็นมาของการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ

นางจิระภา  ดวงดี  สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ  เปิดเผยว่า   วันแรงงานสากล นั้น ในปี พ.ศ. 2433 AFL (American  Federation of  Labour)  ได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา จำกัดชั่วโมงการทำงานให้คงเหลือวันละไม่เกิน  8 ชั่วโมง  หรือสัปดาห์ละไม่เกิน 48 ชั่วโมง  ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องระบบสามแปดทั่วโลก  คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง  ศึกษา  8 ชั่วโมง  และพักผ่อน  8 ชั่วโมง   ต่อมาได้มีการประชุม International Socialist Congress  ที่กรุงปารีส  ประเทศฝรั่งเศส ที่ประชุมได้มีมติสนับสนุนข้อเรียกร้องของ AFL  และกำหนดให้สหภาพแรงงานต่างๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา จัดชุมนุมเดินขบวนพร้อมกันในวันที่  1  พฤษภาคม  2433  จากการชุมนุมดังกล่าวสามารถเรียกร้องได้ระบบสามแปด ทำให้กรรกรในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกถือเอาวันที่  1  พฤษภาคม  เป็นวันกรรมกรสากลเป็นต้นมา  แต่สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนนาดา  ได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็นวันแรงงาน ซึ่งวัตถุประสงค์ของวันแรงงานที่นานาประเทศกำหนดขึ้น เพื่อเป็นวันเตือนใจให้ประชาชนตระหนักถึงผู้ใช้แรงงาน ที่ได้ประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศและการฉลองวันแรงงานทั่วๆไป จะไม่นิยมแสดงออกทางการเมือง เว้นแต่ในประเทศที่มีการปกครองในระบบคอมมิวนิสต์บางประเทศ

สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ  ได้กล่าวอีกว่า  ส่วนวันแรงงานในประเทศไทยนั้น  มีความเป็นมา คือ  การจัดงานฉลองวันแรงงานแห่งชาติในประเทศไทยครั้งแรกได้มีการจัดงานในปี พ.ศ. 2490  ซึ่งเป็นปีที่ผู้ใช้แรงงานเริ่มเคลื่อนไหวรวมตัวก่อตั้งเป็นสมาคม จนกระทังได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่  30  เมษายน  2499  ให้วันที่  1  พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันกรรมกรแห่งชาติ  (ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวันแรงงานแห่งชาติ)  และเมื่อปี พ.ศ. 2500 พระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499  ประกาศใช้บังคับ  ซึ่งได้มีบทบัญญัติให้ลูกจ้าง มีสิทธิหยุดงานประจำปีในวันแรงงานแห่งชาติได้ คือ วันที่  1  พฤษภาคม  และการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติของลูกจ้างก็มิได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น พ.ศ. 2491-2499  และ พ.ศ. 2502-2512  เนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองไม่เอื้ออำนวย  เพราะมีเวลาปฏิวัติ เช่น การปฏิวัติเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2490 และการปฏิวัติเมื่อเดือนตุลาคม 2501  หัวหน้าคณะปฏิวัติ คือ จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  ได้ออกประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติแรงงาน  พ.ศ. 2499  เป็นผลให้การฉลองวันแรงงานสิ้นสุดลงเป็นเวลายาวนาน

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา  จึงได้จัดงานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนเงินบางส่วนเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงาน และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ปี พ.ศ.  2522 ผู้ใช้แรงงานได้เตรียมการจัดงานเป็นหลายกลุ่ม โดยขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดงานจากรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์  ซึ่งเป็นผู้อำนวยการรักษาพระนครและเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหากดไทยในขณะนั้น ได้มอบหมายให้พลตรีระวี  วันเพ็ญ  เป็นผู้แทนในการประสานงานกับกรมแรงงาน และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมกรอำนวยการจัดงานจากส่วนราชการ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ เพื่อทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและประสานงานเพื่อให้การจัดงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดงานเป็นจำนวนถึง  400,000 บาท(สี่แสนบาทถ้วน)

นางจิระภา  ดวงดี  สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ  กล่าวต่ออีกว่า  ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 – ปัจจุบัน ผู้ใช้แรงงานได้จัดงานในนาม  "คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ”  โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดงานมาตลอด และกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้แต่งตั้ง  "คณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ”  ซึ่งประกอบด้วย ส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ  โดยมีปลัดกระทรวงแรรงงานและสวัสดิการสังคมเป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้แรงงานเพื่อให้การจัดงานของผู้ใช้แรงงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  ซึ่งรูปแบบในการจัดงานนั้น  การจัดงานในส่วนกลางผู้ใช้แรงงานจะขอใช้ท้องสนามหลวงเป็นสถานที่จัดงาน สำหรับส่วนภูมิภาคก็ได้มีการกระจายกันจัดในสถานที่ต่างๆ จังหวัดที่เคยมีการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ได้แก่  เชียงใหม่  ลำพูน  ขอนแก่น  หนองคาย อ่างทอง  พระนครศรีอยุธยา  สุพรรณบุรี  นครศรีธรรมราช  สงขลา  ภูเก็ต  นราธิวาส  เป็นต้น  รูปแบบการจัดงานจะคล้ายคลึงกันทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค คือ มีการทำบุญตักบาตร จัดให้มีริ้วขบวนของผู้ใช้แรงงาน การแข่งขันกีฬาระหว่างผู้ใช้แรงงานการแสดงบันเทิงต่างๆ  สำหรับงบประมาณในการจัดงานของส่วนภูมิภาค ส่วนหนึ่งจะขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ



สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษ
สุรศักดิ์  สร้อยเพชร / ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น