วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

จังหวัดบึงกาฬจัดงานวันคุ้มครองผู้บริโภคและอบรมให้ความรู้กฎหมายแรงงาน

วันนี้ 30-04-57 นายสุระสันต์ เพชรสุวรรณรังสี ปลัดจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันคุ้มครองผู้บริโภคและอบรมเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานให้กับนายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป ณ หอประชุมโรงเรียนอนุบาลบึงกาฬวิศิษฐ์อำนวยศิลป์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬนำโดยนายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬและสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบึงกาฬนำโดย ว่าที่ร้อยตรีเผด็จ ศิลารังสีสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบึงกาฬ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน แรงงานสัมพันธ์ สวัสดิการแรงงาน และมาตรฐานแรงงานไทย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจของจังหวัดบึงกาฬ ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทุกภาคส่วน ให้สามารถรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

และในวันเดียวกันได้จัดกิจกรรมวันคุ้มครองผู้บริโภคไทยโดยมีการจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้และรับปรึกษาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ซึ่งวันคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นจาก คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จัดตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2522 สมัยนายกรัฐมนตรี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็น จึงมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี นายสมภพ โหตระกิตย์ เป็นประธานกรรมการปฏิบัติงาน โดยได้มีการพิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ต่อมารัฐสภามีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้เป็นกฎหมายได้ ต่อมารัฐบาลได้นำร่างขึ้นบังคมทูล และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 30 เมษายน 2522 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษเล่มที่ 96 ตอนที่ 72 วันที่ 4 พฤษภาคม 2522 มีผลการใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2522 เป็นต้นมา นับตั้งแต่นั้น ประเทศไทยได้ถือเอาวันที่ 30 เมษายนของทุกปี เป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย

สาเหตุที่ต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากผู้ประกอบการได้นำวิชาทางการตลาดและการโฆษณามาส่งเสริมการขายสินค้าและบริการ ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่รู้ไม่เท่าทันตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบและได้รับความเดือนร้อน หากจะเรียกร้องค่าเสียหายต้องผ่านกระบวนการพิจารณากฎหมาย ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้เวลานาน และเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี บางครั้งไม่อาจระงับยับยั้งการกระทำที่เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคได้ทันท่วงที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น