ชลประทานบุรีรัมย์หวั่นวิกฤติแล้งหลังพบเกษตรกรทำนาปรังเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมากว่า 30,000 ไร่ เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคแล้วในหลายพื้นที่ ขณะชลประทานจังหวัดหวั่นวิกฤติ ได้ประกาศแจ้งเตือนให้เกษตรกรไม่ให้ขยายพื้นที่เพราะปลูกข้าวนาปรังเพิ่ม หลังสำรวจพบว่าปีนี้มีเกษตรกรทำนาปรังมากกว่า 50,000 ไร่ เพิ่มจากปีที่ผ่านมากว่า 30,000 ไร่ ( 6 ก.พ.57 ) บุรีรัมย์เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งแล้วในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะนายยงศักดิ์ ประภาพันธ์ศักดิ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกมาแจ้งเตือนเกษตรกรทั้งในและนอกเขตบริการ ให้งดการขยายพื้นที่ทำนาปรังเพิ่มอีก หลังสำรวจพบว่าได้มีเกษตรกรทั้งในและนอกเขตพื้นที่บริการของโครงการชลประทาน ได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังขณะนี้มากกว่า 51,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่า 30,000 ไร่ จากที่เกษตรกรได้มีการเพาะปลูกเพียงกว่า 2 หมื่นไร่เท่านั้น เกรงว่าหากเกษตรกรยังมีการฝ่าฝืนลักลอบขยายพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเกินกว่าแผนที่กำหนดไว้แล้ว หากฤดูฝนมาช้าหรือทิ้งช่วง อาจจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคได้ เพราะคาดการณ์ว่าปีนี้สถานการณ์ภัยแล้วจะยาวนานกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานโครงการชลประทานจังหวัด ได้แจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ ของแต่ละพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทุกแห่งแล้ว ได้ร่วมกันตรวจสอบ และประชาสัมพันธ์ในเกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบอย่างเร่งด่วน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัด ยังกล่าวอีกว่า ปริมาณน้ำที่กักเก็บในอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์จำนวน 22 อ่าง ปัจจุบันมีปริมาณกักเก็บอยู่กว่า 260 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 87.04 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณจากความจุอ่างทั้งหมดกว่า 298 ล้านลูกบาศก์เมตร เชื่อว่าจะเพียงพอต่อการใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี แต่หากไม่มีการบริหารจัดการการใช้น้ำอย่างเป็นระบบแล้ว ในอนาคตอาจจะส่งผลทำให้ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคได้
สุรชัย พิรักษา สวท. บุรีรัมย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น