วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทความ : สารคดีเทิดพระเกียรติในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ “ศิลปาชีพ นำชีพชน”

ย้อนไปในอดีตพระราชดำริในการก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ  เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎรนั้น มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งตามเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงเห็นชาวบ้านนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันเป็นส่วนใหญ่ จึงทรงเล็งเห็นว่าชาวบ้านมีฝีมือในงานหัตถกรรมอยู่แล้ว จึงมีพระราชดำริส่งเสริมอาชีพให้แก่ชาวบ้าน เพื่อได้มีรายได้ทดแทนกรณีที่ผลผลิตทางการเกษตรต้องเสียหาย ไม่ได้ผล อันเนื่องจากภัยทางธรรมชาติ

ในช่วงแรกสมเด็จพระบรมราชินีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวบ้านทอผ้าไหมมัดหมี่  แล้วทรงรับซื้อเอาไว้ เป็นการสนับสนุน  ฟื้นฟู และพัฒนาฝีมือการทอในเบื้องต้น  เมื่อดำเนินการส่งเสริมอาชีพไประยะหนึ่ง ก็ได้มีการจัดตั้งเป็นมูลนิธิขึ้น และได้ พระราชทานชื่อมูลนิธิว่า "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์" โดยมีสำนักงานของมูลนิธิที่สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร โดยสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้พระราชทานทุนเริ่มแรกจำนวนหนึ่งล้านบาทถ้วน

ต่อมาใน พ.ศ.2531 คณะกรรมการบริหารของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ พิจารณาเห็นว่า สมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ยึดศิลปาชีพเป็นอาชีพหลักกันมากมิได้ทำเป็นอาชีพเสริม และองค์ประธานมูลนิธิก็ทรงบริหารกิจการด้วยพระองค์เอง มิได้เป็นเพียงการพระราชทานพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อของมูลนิธิจาก "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์" เป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งในปัจจุบันมูลนิธิมีศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพกระจายอยู่ทั่วทุกภาค และมีโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยศูนย์ศิลปาชีพทั่วประเทศ มีดังนี้ 1.ศูนย์กลางศิลปาชีพ ณ สวนจิตรลดา 2.ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ บางไทร อยุธยา 3.ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม สกลนคร 4.ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ บ้านจาร สกลนคร 5.ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบ้านทรายทอง สกลนคร 6.ศูนย์ศิลปาชีพบ้านหัวยเดื่อ แม่ฮ่องสอน 7.ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน 8.ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ เชียงใหม่ 9.ศูนย์ศิลปาชีพเครื่องปั้นดินเผา ลำปาง 10.ศูนย์ศิลปาชีพบ้านวัดจันทร์ เชียงใหม่ ซึ่งทุกศูนย์ฯสามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีความห่วงใยประชาชน ในชนบท พระองค์ทรงมีพระราชดำริ ที่จะช่วยให้พสกนิกรของพระองค์ท่าน มีความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพียงพอ ต่อการเลี้ยงครอบครัว จึงได้พระราชทานพระราชดำริ การส่งเสริมศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ เพื่อให้การฝึกอบรมแก่สมาชิก รวมทั้งจัดหางาน ให้สมาชิกดำเนินการ เพื่อนำไปจำหน่าย เป็นรายได้เสริมของสมาชิก สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว





สำนักข่าว  กรมประชาสัมพันธ์ / ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น