วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

มทส. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ครั้งที่ 4/56

มทส. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ครั้งที่ 4/56 เปิดแผนกลยุทธ์วางระบบติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงาน ยกประเด็นหารือร่วมแก้ไขปัญหาการปลอมวุฒิการศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ให้การต้อนรับ ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทอมก) และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 14 แห่ง ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมประชุม ทอมก ครั้งที่ 4/2556 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 ณ อาคารบรรณสาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทอมก) เปิดเผยว่า "การจัดประชุม ทอมก นับเป็นการประชุมครั้งที่ 4 ประจำปี 2556 โดยมหาวิทยาลัยสมาชิกต่างหมุนเวียนเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งครั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา รับเป็นมหาวิทยาลัยเจ้าภาพ โดยที่ประชุม ทอมก มุ่งหวังเพื่อดำรงไว้ซึ่งการมีระบบการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดตาม หลักการของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แม้ว่าทั้ง 14 แห่ง ต่างมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเช่นเดียวกัน มีแนวทางหรือหลักการในการดำเนินงาน การบริหารงานในภาพรวมที่ไม่ต่างกันนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วการดำเนินงานบริหารของแต่ละสถาบัน ย่อมต้องมี กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ แนวปฏิบัติ รวมถึงบริบท สภาพแวดล้อมในด้านต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย จึงมีความหลากหลายแตกต่างกันไปด้วย

ที่ประชุม ทอมก เป็นเวทีในการรวบรวมประเด็นแนวทาง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หารือร่วมกันเพื่อเป็นการส่งเสริมการดำเนินงานภายใต้หลักการของการเป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่ผ่านมาได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ครอบคลุมระบบบริหารจัดการ ประกอบด้วย ระบบบุคลากร ระบบการเงินและงบประมาณ ระบบประกันคุณภาพการศึกษา ที่ประชุมนักกฎหมาย ความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัย เครือข่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร และคณะกรรมการระบบติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ จะต้องรายงานความคืบหน้าตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายต่อที่ประชุมอย่างต่อ เนื่อง

ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมประเด็นที่เป็นปัญหาร่วมกันในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงาน ในกลุ่มมหาวิทยาลัยและสถาบันที่เป็นสมาชิก ด้วยการสร้างระบบ และคู่มือติดตาม และประเมินผล ที่เป็นระบบกลาง และเหมาะสมกับมหาวิทยาลัยในกำกับ ดำเนินการหาแนวทางที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อใช้ในการเทียบวัด (Benchmarking) ในการดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ และศึกษาวิเคราะห์เพื่อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อที่ประชุม ทอมก. คณะกรรมการติดตามฯ ได้วางแผนกลยุทธ์ ปี พ.ศ. 2556 - 2560 ประกอบด้วย แผนกลยุทธ์ที่ 1 สร้างความเข้าใจในบทบาทหน้าที่  และการพัฒนาตนเองของคณะกรรมการฯ อาทิ ผ่านเว็บไซต์ โซเชียลเนตเวิร์ด กลุ่ม ทอมก. เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางสื่อสาร ซึ่งจะประโยชน์ต่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ผู้ตรวจสอบภายใน มหาวิทยาลัยสมาชิก แผนกลยุทธ์ที่ 2 สร้าง รวบรวม และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านระบบติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลฯ โดยการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนประเด็น

ปัญหาที่วิกฤตของแต่ละมหาวิทยาลัย เข้าเป็นระเบียบวาระที่ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และจัดทำกรณีศึกษาในประเด็นต่างๆ รวบรวมข้อมูลการบริหารความเสี่ยง การจัดทำคู่มือกลางด้านระบบติดตามฯ เพื่อให้บุคลากรมีคู่มือในการปฏิบัติงานไปในทิศทางเดียวกัน และนำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานได้อย่างเหมาะสม การจัดสัมมนาทางวิชาการประจำปี และแผนกลยุทธ์ที่ 3 เผยแพร่และให้คำปรึกษาการดำเนินงานด้านระบบติดตามฯ โดยจัดทำ e-Newsletter จัดทำเอกสารประมวลสาระด้านการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล สร้างทีมวิทยากร จัดทำชุดฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน จัดสัมมนาทางวิชาการระดับชาติ ซึ่งโครงการตามแผนกลยุทธ์ที่ได้นำเสนอนั้นจะมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบดำเนิน กิจกรรมให้เป็นรูปธรรมภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดไว้”

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า " ถือเป็นเกียรติอีกวาระหนึ่งที่ มทส. ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ทอมก ครั้งนี้ โดยเป็นธรรมเนียมในฐานะมหาวิทยาลัยเจ้าภาพต้องนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานโดย สรุปต่อที่ประชุม และในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยได้นำเสนอระบบการบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนงานวิจัยกรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตามที่ได้ประกาศตัวเป็น "มหาวิทยาลัยคู่เคียงสังคม” ผ่านงานวิจัยและพัฒนาของบุคลากร นักวิจัย และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยยึดหลักการปรับแปลง ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน และในโอกาสนี้ ตนได้เสนอต่อที่ประชุม ทอมก ในการได้ร่วมกันกำหนดแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาการปลอมวุฒิการศึกษาที่ระบาด อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นปัญหาเรื้อรังของวงการศึกษาไทย กรณีมีขบวนการค้าวุฒิการศึกษาปลอมที่ระบาดหนักทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ และการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ทอมก จึงควรหารือร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน โดยหามาตรการร่วมกันเพื่อกำจักมิจฉาชีพให้หมดสิ้น รวมถึงการปลูกฝังความคิด คุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกของคนในสังคมด้วยว่า การใช้วุฒิการศึกษาปลอมเป็นเรื่องที่ผิดทั้ง คุณธรรม จริยธรรม และผิดกฎหมายด้วย” 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น