วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

ประมาณการภาวะเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่น ปี 55 มีมูลค่าเพิ่ม 180,000 ล้านบาท คาดขยายตัวร้อยละ 9.4

คณะกรรมการบริหารภาวะเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่น ประมาณการภาวะเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่น ปี 2555 มีมูลค่าเพิ่มเท่ากับ 180,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 15,169 ล้านบาท คาดขยายตัวร้อยละ 9.4 ภาคนอกเกษตร ขยายตัวร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกำกับดูแลและอำนวยการจัดเก็บข้อมูลภาวะเศรษฐกิจจังหวัดขอนแก่น ปี 2555 เพื่อพิจารณาการนำเสนอประมาณการการจัดทำสถิติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ( GPP ) ปี 2555 จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมี นายวินัย สิทธิมณฑล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการประชุม มีผู้แทนหน่วยงานราชการ , หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารกำกับดูแลและอำนวยการการจัดเก็บข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่น จำนวนกว่า 200 คน เข้าประชุม และมีผู้แทนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเข้าร่วมประชุมด้วย

ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการนำเสนอข้อมูลประมาณการภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่น พ.ศ. 2555 ว่า ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดขอนแก่น ในปี 2555 มีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาประจำปี เท่ากับ 180,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 165,572 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา เท่ากับ 15,169 ล้านบาท โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.4 จากที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ในปีที่ผ่านมา โดยภาคนอกเกษตร ขยายตัวร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการขยายกำลังการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 ประกอบกับจังหวัดขอนแก่นได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 40 และกีฬาคนพิการแห่งชาติครั้งที่ 30 ส่งผลให้การผลิตสินค้าและบริการของภาคนอกเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ สาขาการขายส่ง การขายปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร โดยการผลิตที่ขยายตัว ได้แก่ สาขาเหมืองแร่และเหมืองหิน ขยายตัวร้อยละ 12.5 สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.2 สาขาไฟฟ้า ประปา และโรงแยกก๊าซ ขยายตัวร้อยละ 10.9 สาขาก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 18.9 สาขาการขายส่ง การขายปลีก ขยายตัวร้อยละ 24.8 สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 9.0 และสาขาลูกจ้างในครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 62.6 ส่วนสาขาการผลิตที่ชะลอตัว ได้แก่ สาขาตัวกลางทางการเงิน ชะลอตัวร้อยละ 14.5 สาขาบริหารราชการฯ ชะลอตัวร้อยละ 6.0 สาขาการศึกษา ชะลอตัวร้อยละ 1.3 และสาขาการให้บริการด้านชุมชนฯ ชะลอตัวร้อยละ 1.0 ในขณะที่ภาคเกษตร หดตัวร้อยละ 2.5 จากที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ในปีที่ผ่านมา จากการผลิตในสาขาเกษตรกรรม หดตัวร้อยละ 1.1 และสาขาประมง หดตัวร้อยละ 23.1 เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ประสบภัยแล้ง ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเพาะปลูกและจับสัตว์น้ำจืดจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้



สมพงษ์ ปัตตานี/ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น