วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

อุบลราชธานี จัดเวทีประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน

อุบลราชธานี จัดเวทีประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน
อุบลราชธานี : เชิญหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน ร่วมประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน ใน 5 ยุทธศาสตร์หลักด้านการบังคับใช้กฎหมาย, วิศวกรรมจราจร, การให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม,การบริการการแพทย์ฉุกเฉินและการประเมินผลและระบบสารสนเทศ โดยปรับแนวทางดำเนินการให้ อปท.พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมและเตรียมนำเสนอเป็นยุทธศาสตร์จังหวัด

เช้าวันนี้ (26 ก.ย.56) นางสาวกาญจนา ทองทั่ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นประธานในการจัดเวทีประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน ตามโครงการกระบวนการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนของนักศึกษาและชุมชนรอบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระยะที่ 2 ที่ห้องประชุมโกเมน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ซึ่งโครงการดังกล่าวได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียต่อประเด็นความปลอดภัยทางถนนจังหวัดอุบลราชธานี และจากผลของการระดมความคิดเห็นได้นำมาจัดทำเป็นร่างยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน ใน 5 ประเด็นยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งได้แบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นและพิจารณาร่างยุทธศาสตร์และนำเสนอเพื่อพิจารณาร่วมกัน ซึ่งผู้ร่วมเวที ได้พิจารณาและเห็นควรปรับเปลี่ยนแนวทางดำเนินการในแต่ละประเด็น เช่น ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ให้ตำรวจภูธรจังหวัด,ตำรวจทางหลวง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องในมาตรการ 3 ม 2 ข 1 ร 1 ท ในทุกพื้นที่ อีกทั้งเข้มงวดในการต่อใบอนุญาตขับขี่ การกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยในชุมชน,สถานประกอบการ,หน่วยงานภาครัฐและสถานศึกษา, ด้านวิศวกรรมจราจร ให้มีการติดตั้ง จัดระบบ ตรวจสอบไฟจราจร สัญญาณเตือน ป้ายเตือน ลูกระนาดชะลอความเร็วรถในจุดเสี่ยง จุดอันตราย ปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อความปลอดภัย สนับสนุนให้มีช่องทางหรือโครงข่ายเดินรถจักรยาน จัดหาจุดจอดรถ จัดระเบียบการจราจร ตามตลาด สถานศึกษาและเพิ่มบริการรถสาธารณะให้เพียงพอและมีความปลอดภัยรวมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะมากขึ้น

ด้านการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ ให้มีการจัดอบรมให้ความรู้ด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุในสถานศึกษารวมทั้งให้มีการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนหรือรายวิชา การใช้รถใช้ถนนเพื่อความปลอดภัยในสถานศึกษาทุกระดับ การรณรงค์ใช่หมวกนิรภัย 100 % ส่งเสริม สนับสนุนให้ อปท. ใช้สื่อประชาสัมพันธ์ในชุมชนให้เหมาะสมกับสถานที่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การผลิตและเผยแพร่สื่อ โดยสื่อมวลชนทุกสาขา การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารความปลอดภัยในชุมชน, ด้านบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ดำเนินการที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพคลอบคลุมพื้นที่ตามมาตรฐาน ทั้งการให้บริการและการสั่งการและด้านการประเมินผลและระบบสารสนเทศ ให้มีระบบการรวบรวมข้อมูล รายงานผล นำสถิติการเกิดอุบัติเหตุมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและมีการพัฒนาระบบสารสนเทศให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งข่าวอุบัติเหตุ ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากการจัดเวทีประชาพิจารณ์ จะได้รวบรวมนำเสนอจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนนของจังหวัดและมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลต่อไป



พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ส.ปชส.อุบลราชธานี
081 – 924 6809 /ข่าว/ 26 ก.ย. 56

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น