วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

ประชุมคณะกรรมการดำเนินงานตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคาม

กลุ่มงานแพทย์แผนไทย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามประชุมชี้แจงการดำเนินงาน ตามโครงการดำเนินงานตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคาม ปีงบประมาณ 2556 เพื่อขับเคลื่อนความคืบหน้าการดำเนินงานตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพร

(23/9/2556) เวลา 10.00 น. ณ.ห้องประชุม 3 ชั้น 1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม งานแพทย์แผนไทยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ได้จัดประชุมคณะกรรมการเพื่อชี้แจงความคืบหน้าถึงการดำเนินงาน ตามโครงการดำเนินงานตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดมหาสารคาม ประจำปีงบประมาณ 2556 เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์รับซื้อและจำหน่ายสมุนไพรที่เป็นตลาดกลางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ทันสมัย และส่งเสริมให้มีการปลูกสมุนไพรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากลและเชิงพาณิชย์ เพื่อจำหน่ายให้แก่หน่วยงานที่มีความต้องการและส่งออกต่างประเทศ โดยมีนายแพทย์ ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในการประชุม เพื่อรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพร

ตามที่นโยบายรัฐบาลได้มีการส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรมากขึ้น เพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบันลดการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันมีการใช้สมุนไพรค่อนข้างน้อยเพราะที่ผ่านมาปัญหาของยาสมุนไพรก็ยังมีอีกมาก เช่น ความสะอาด สิ่งปนเปื้อน การตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานของวัตถุดิบ เป็นต้น จากกระแสของการเข้าสู่ธรรมชาติ ประกอบกับเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันหลายๆจังหวัดในภาคใต้ เริ่มตื่นตัวในการใช้สมุนไพรมากขึ้น แต่ยังไม่มีตลาดกลางของวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน ดั้งนั้นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดตั้งตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรขึ้นโดยการสนับสนุนของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

โดยมีอำเภอต้นแบบ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอกันทรวิชัย อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอแกดำ อำเภอวาปีปทุม อำเภอนาดูน อำเภอเชียงงยืน อำเภอนาเชือก อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เป็นอำเภอต้นแบบโดยทำแปลงอย่างน้อย 3 แปลงเป็น Organic ทดลองปลูกพืชสมุนไพร จำนวน 13 ชนิดคือ ขมิ้นชัน, บัวบก, หญ้าปักกิ่ง, ไพร, ฟ้าทะลายโจร, รางจืด,ทองพันชั่ง, กำแพงเจ็ดชั้น, มะหาด, สมอไทย, สมอภิเภก, มะขามป้อง, ดอกคำไทย ส่วนการจัดทำแผนงานโครงการตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพร จังหวัดมหาสารคาม มีการแบ่งกลุ่มเกษตรกรเกรด A คือเกษตรกรที่ปลูกพืชสมุนไพรโดยไม่ใช้สารเคมี (Organic) และเกรด B และC คือกลุ่มที่ปลูกสมุนไพรที่อาจใช้สารเคมีร่วมด้วย (GPO) และเกษตรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเจาะเลือดตรวจสุขภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมเทคนิคเกษตรอินทรีย์ การจัดระบบควบคุมภายในแปลงปลูกสมุนไพร มีการตรวจสอบฟาร์มเกษตรที่เข้าร่วมโครงการเช่นแผนผังฟาร์ม แผนงาน เพื่อรวมกลุ่มการผลิต และจัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภายประเทศ และจัดเวทีแลกเปลี่ยน ผู้ซื้อ – ผู้ขาย กำหนดราคากลาง โดยมีคณะกรรมการกลางออกติดตามและควบคุมการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้การควบคุมกระบวนการดำเนินงานทั้งหมดทุกขั้นตอนตามมาตรฐาน



ภารุวัชร คนเชี่ยว ภาพ/ข่าว/สปชส.มค

1 ความคิดเห็น:

  1. ยินดีครับ ผมเสนอแนะเรื่อง พืชสมุนไพร เรื่องการกำหนดราคา ที่มีความเป็นธรรม และราคากลางที่เหมาะสม สำหรับผู้ซื้อ และผู้ขาย

    ตอบลบ