วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มทส.ได้รับเลือกจากยูเนสโกและหอดูดาวแห่งชาติญี่ปุ่นอบรม “คุณคือกาลิเลโอ!”

ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) เปิดเผยว่า ทางองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก กับหอดูดาวแห่งชาติญี่ปุ่น (National Astronomical Observatory of Japan, NAOJ) ได้เลือกประเทศไทยเป็นสถานที่อบรมเชิงปฏิบัติการ "คุณคือ กาลิเลโอ! (You are Galileo! Workshops in Thailand)” ซึ่งเป็นประเทศที่สามต่อจากอินโดนีเซียและมองโกเลีย

ในการประชุม มทส.ได้รับการร่วมสนับสนุนการดำเนินการจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และทางหอดูดาวแห่งชาติญี่ปุ่นได้ส่ง ศาสตราจารย์ ดร.คาซุฮิโร เซคิกูชิ (Kazuhiro Sekiguchi) และคณะ รวม 4 คน มาเป็นวิทยาการ ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญ และให้การสนับสนุนการเยาวชนได้มีทักษะและรู้จักใช้กล้องในการสังเกต ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ มีหอดูดาวทั้งประเทศ 16 แห่ง ขณะที่ประเทศไทย มีหอดูดาวที่รองรับการวิจัยได้ คือ หอดูดาวสิรินธร บนดอยสุเทพ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา อยู่ที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และที่ มทส. จังหวัดนครราชสีมา รวมถึงที่กำลังสร้างเพิ่มเติมที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สงขลา พิษณุโลก และขอนแก่น
 
ปัจจุบัน นานาประเทศต่างยอมรับว่า ดาราศาสตร์มีบทบาทสำคัญต่อการตื่นตัวด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสังคมใน วงกว้าง สามารถกระตุ้นให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ขึ้นในกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติ และทุกภาษา ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่สามารถฝึกฝนให้คนมีจินตนาการ มีความใฝ่รู้ รู้จักการใช้ความคิดเห็นในเชิงเหตุผล ไม่เชื่ออย่างงมงาย การค้นพบปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์เสมอไป นักดูดาวสมัครเล่นก็สามารถค้นพบได้ เช่น ดาวหางหางยาวที่สุด ชื่อ ไฮอาคุตาเกะ ก็ค้นพบโดย ยูจิ ไฮอาคุตาเกะ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักดูดาวสมัครเล่น เป็นต้น
 

รองศาสตราจารย์ ดร.ประพันธ์ แม่นยำ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การฝึกอบเชิงปฏิบัติการ "คุณคือกาลิเลโอ!” เมื่อปลายปี 2555 เป็นการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นการสังเกตการณ์ผ่านกล้อง กาลิเลโอสโคป (Galileoscopes) ซึ่งเป็นกล้องแบบเดียวกับที่กาลิเลโอ กาลิเลอี ได้ใช้ในการสังเกตวัตถุท้องฟ้า ในปี ค.ศ. 1610 ซึ่งชาวโลกได้เฉลิมฉลองปีกาลิเลโอสากล (International Galileo Year) ครบ 400 ปี เมื่อปี ค.ศ. 2010 และวิทยากรชาวญี่ปุ่นได้นำกล้องชนิดเดียวกันมาใช้ในการสังเกตการณ์จริงในการ ฝึกอบรมครั้งนี้ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ด้านดาราศาสตร์ในวงกว้างให้กับครูดาราศาสตร์ไทยในภูมิภาคต่าง ๆ และเพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union, IAU) ผ่านสำนักงานดาราศาสตร์เพื่อการพัฒนาภูมิภาค (Regional Office of Astronomy for Development, ROAD) มีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ทำหน้าที่ประสาน ได้มีการเชิญครูผู้สอนดาราศาสตร์จากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป. ลาว และประเทศมาเลเซีย เข้าร่วมการฝึกอบรมดังกล่าวด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น